1. เราสามารถตรวจพบภาวะออทิสติกตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ได้หรือไม่
โรคที่สามารถตรวจได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์คือ ต้องเป็นโรคที่ทราบสาเหตุแล้วชัดเจน เช่น โรคในกลุ่ม ดาวน์ซินโดรม ที่มีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ส่วนโรคออทิสติกเองนั้น แม้ในปัจจุบันจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม คือ เมื่อมีลูกคนนึงเป็นออทิสติกแล้ว ลูกคนต่อไปมีโอกาสเป็นออทิสติกมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า ซึ่งมีตำแหน่งยีนบนโครโมโซมที่เกี่ยวข้องหลายตำแหน่ง ดังนั้นในปัจจุบันเราจึงยังไม่สามารถที่จะตรวจหาภาวะออทิสติกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
2. เราจะสังเกตได้อย่างไร ว่าลูกเข้าข่ายภาวะออทิสติก
อาการหลัก ๆ ของเด็กที่มีภาวะออทิสติกคือ
1. การที่เด็กมีความบกพร่องด้านการสื่อสาร ทั้งภาษาพูดที่ล่าช้า หรือ จนถึงแม้กระทั่งการที่เด็กไม่สามารถบอกความต้องการผ่านท่าทางได้ สามารถสังเกตคร่าวๆ เช่น
– 1 ขวบ ยังไม่เล่นเสียงริมฝีปาก
– ขวบครึ่ง ยังไม่พูดเป็นคำ ที่มีความหมาย ไม่หันตามเสียงเรียก
– 2 ขวบ ยังมีพูดทวนคำ หรือประโยคตามที่เราพูด
– ในเด็กโต อาจมีคำศัพท์ที่ใช้เฉพาะ หรือใช้ภาษาการ์ตูน หรือใช้โทนเสียงที่ดูผิดปกติ หรือ พูดแต่เรื่องของตนเองโดยไม่ฟังคนที่คุยด้วย ไม่เข้าใจคำที่มีความหมายแฝงโดยนัยหรือคำพูดล้อเล่น
2. มีปัญหาทางด้านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อาจสังเกตได้จาก
– อายุ 8 เดือน เด็กยังไม่ค่อยมองตามพ่อแม่
– อายุ 10 เดือน ไม่ค่อยมองหน้าพ่อแม่/คนที่เลี้ยงดู หรือไม่มองตามที่คนเลี้ยงดูชี้
– 1 ขวบ ยังไม่ค่อยชี้บอกความต้องการ หรือไม่ค่อยมองหน้าสบตา ยังจำคนเลี้ยงไม่ได้ หรือไม่กลัวคนแปลกหน้า เวลาต้อง จากคนเลี้ยงดูก็ไม่แสดงท่าทีกังวล
– ขวบครึ่งแล้ว ยังเล่นสมมติไม่เป็น หรือไม่ทำท่าทางเลียนแบบ
– 3 ขวบแล้ว ยังชอบเล่นคนเดียว ไม่ชวนคนอื่นเล่น ไม่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกับคนอื่นๆ
3. มีความสนใจแคบ มีพฤติกรรมที่เป็นแบบแผนซ้ำๆ เปลี่ยนแปลงได้ยาก
– สามารถเห็นพฤติกรรมที่ผิดปกตินี้ได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงวัยอนุบาล เช่น ชอบเล่นแต่ล้อรถยนต์
– กินอาหารยาก ชอบใส่เสื้อผ้าตัวเดิมๆ ชอบเอาของมาเรียงๆ กัน
– บางคนก็มีลักษณะการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ เช่น หมุนตัว สะบัดมือ กระโดดเขย่งเท้า
3. ออทิสติก เป็นโรคจิต หรือ ปัญญาอ่อน ใช่หรือไม่
– ออทิสติกเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสมอง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่ทำงานด้านการอ่านสีหน้าท่าทางของคน รวมทั้งสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใจอารมณ์หรือกระบวนการตีความจากบริบททางสังคม
– ออทิสติกจึงไม่ใช่โรคจิต ที่จะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน
– และออทิสติก ก็ไม่เหมือนกับภาวะปัญญาอ่อน ที่เด็กจะมีพัฒนาการช้าในทุกๆ ด้าน ทั้งภาษา สังคม กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก และการดูแลตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามเด็กออทิสติกก็สามารถมีภาวะปัญญาอ่อนร่วมด้วยได้
4. ออทิสติกเป็นคนที่มีโลกส่วนตัว คงไม่มีอารมณ์หรอก จริงหรือไม่
– ในความเป็นจริงเด็กออทิสติก ยังมีอารมณ์เหมือนคนปกติโดยเฉพาะความกลัวหรือความกังวล แต่ไม่สามารถที่จะแสดงออกได้ อย่างเหมาะสม จึงออกมาเป็นพฤติกรรมซ้ำๆ มากขึ้น เพื่อลดความกลัวกับการต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ หรือออกมาเป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้น
– ดังนั้นการดูแลเด็กออทิสติกที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การสอนเรื่องอารมณ์และการจัดการอารมณ์ให้เด็ก เช่น การสะท้อนอารมณ์
5. มียาหรือวิธีการอะไร ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
– เนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะออทิสติก ในปัจจุบันจึงยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถรักษาออทิสติกให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อลดอาการจนใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้มากที่สุด
– การใช้ยาในปัจจุบัน ใช้เพื่อคุมอาการบางอย่างที่มีผลรบกวนชีวิตประจำวันของเด็กหรือรบกวนการเรียนรู้ของเด็ก เช่น
การใช้ยารักษาเพื่อลดอาการซน อยู่ไม่นิ่ง พฤติกรรมก้าวร้าว ลดพฤติกรรมซ้ำๆ หรือปัญหาทางอารมณ์บางอย่าง
– แต่หัวใจสำคัญในการรักษาเด็กออทิสติกจริงๆ คือ ความเข้าใจและความร่วมมือของครอบครัวในการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
ในด้านต่างๆ และการเอาจริงเอาจริงในการปรับพฤติกรรมเด็ก
บทความ; พญ.สาวิตรี เจติยานุวัตร
ปรึกษาหมอที่ใช่จากที่ไหนก็ได้ คลิก >>> http://onelink.to/chiiwii